คู่มือชีวิตและการทำงาน

เจาะการทำตลาดต่างจังหวัดอย่างไรให้ได้ผล สื่อไหนเข้าถึงได้ดีที่สุด?

ความเจริญของเมืองที่แพร่ขยายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด  ส่งผลให้การทำตลาดต่างจังหวัด  เป็นสิ่งที่นักการตลาดต่างให้ความสำคัญ​และจับตามอง  เพราะเม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยในตลาดต่างจังหวัด  มีมูลค่ามากกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท  โดยภาคใต้มียอดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดถึง 21,293 บาท  จำนวนประชากรในภาคนี้มี  2.7 ล้านครัวเรือน รองลงมาเป็นภาคกลางที่มียอดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 21,055 บาท จำนวนประชากร 4.6 ล้านครัวเรือน ตามมาด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 17,032 บาท  จำนวนประชากร 5.5 ล้านครัวเรือน และภาคเหนือ ที่มีค่าใช้จ่าย 15,268 บาท จำนวนประชากร 3.8 ล้านครัวเรือน

แต่การจะทำตลาดต่างจังหวัด  ให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งต้องรู้ว่าลูกค้าเขามีพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร   เหมือนกับคนกรุง คนเมืองหลวงอย่างกับกรุงเทพฯ​หรือไม่ เพื่อใช้เครื่องมือทางการตลาดได้ถุกต้อง  ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การสื่อสารการตลาดผ่านสื่อต่างๆ  ซึ่งล่าสุดกลุ่มนักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จึงทำการศึกษารูปแบบการสื่อสารการตลาดให้โดนใจผู้บริโภคในตลาดต่างจังหวัด  เพื่อการทำตลาดต่างจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด    

ด้าน นายวรท ตรีรัตน์ศิริกุล นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนกลุ่ม “ภูธร มาร์เก็ตติ้ง ล้วงลึกอินไซต์… สื่อแบบใด จับใจตลาดท้องถิ่น” กล่าวว่า จากการศึกษาและวิจัยในเรื่องของการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ หรือ IMC (Integrated Marketing Communication) ซึ่งหมายถึงการสื่อสารการตลาดที่ต้องใช้สื่อหลากหลายรูปแบบผสมผสานกัน เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพสูงสุดไปยังกลุ่มเป้าหมายให้รู้จักสินค้าและผลิตภัณฑ์ อันจะส่งผลให้มีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้นตามไปด้วย โดยจากการสำรวจกลุ่มคน “ภูธร” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เกิดและอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง (ไม่รวม กทม.) โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างให้อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20 – 50 ปี รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 9,001 – 20,000 บาท จำนวน 821 คน และสัมภาษณ์เชิงลึกอีก 32 คน

สำหรับ 9 อันดับสื่อที่มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าภูธร  ในแต่ละอันดับมี ดังนี้

อันดับที 9 บูธกิจกรรม (BOOTH)

การวิจัยพบว่ามีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 25% ที่เห็นบูธกิจกรรมการตลาดแล้วเข้าร่วม  โดยให้ความสนใจกับบูธอาหารและเครื่องดื่ม  โดยจำนวนดังกล่าวเมื่อเข้าร่วมแล้ว  79% ที่ตัดสินใจซื้อสินค้านั้น

ประเด็นน่าสนใจ เพื่อการทำตลาดต่างจังหวัด

  • บูธที่โดนใจ/ชื่อชอบ  จะเป็นบูธที่แจกของฟรี  ยิ่งถ้าของที่ได้รับใช้ได้ดีแล้ว ก็จะกลับมาซื้อสินค้านั้นใหม่
  • ส่วนบูธโปรโมชั่น  กลุ่มตัวอย่างทุกภาคชอบบูธโปรโมชั่น แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จะไม่ซื้อสินค้าที่บูธโปรโมชั่น หากสินค้านั้นไม่ได้ใช้  ขณะที่ภาคกลางและภาคใต้  จะซื้อสินค้าโปรโมชั่นไว้ก่อน แม้จะไม่ได้ใช้สินค้านั้นก็ตาม
  • MC ที่ชื่นชอบ  จะต้องแต่งกายเรียบร้อย  เป็นกันเอง ยิ่งถ้าพูดภาษาถิ่นได้จะดีมาก  ชอบการเล่นเกม

อันดับ 8 การขายโดยพนักงาน (Personal Selling)

จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 43% เคยได้รับการเสนอขาย  ประเภทการขายประกัน ในจำนวนนี้ 55% ตัดสินใจซื้อ

ประเด็นน่าสนใจ/สิ่งที่มัดใจลูกค้า เพื่อการทำตลาดต่างจังหวัด

  • คุณสมบัติสินค้าต้องมาก่อน
  • เปิดใจกับคนรู้จัก
  • ต้องทดลองสินค้าได้

อันดับ 7 สื่อวิทยุ (Radio)

กลุ่มตัวอย่าง 48% ยังฟังวิทยุ ส่วนที่ไม่ฟังเป็นเพราะไม่มีเวลา และมักจะดูทีวีมากกว่า หากจะฟังเพลงก็เลือกฟังผ่านสมาร์ทโฟนแทน  ภาคที่ฟังวิทยุมากที่สุด คือ ภาคใต้  โดยใช้ระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง และฟังในช่วงเวลาเช้า สิ่งสำคัญ คือ คนฟัง 75% สามารถจดจำแบรนด์สินค้าได้

กลุ่มตัวอย่างชอบฟังเพลงสตริงมากที่สุด รองลงมาเป็นเพลงสากล

ศิลปินที่ชื่นชอบ คือ หน้ากากหอยนางรม และหน้ากากทุเรียน

ประเด็นน่าสนใจ เพื่อการทำตลาดต่างจังหวัด

การใช้โฆษณา  ที่เล่าเรื่องด้วยเสียงเพลง หากจะให้ดีเจโฆษณาสินค้า  ต้องพูดในลักษณะเล่าเรื่อง มากกว่าการโฆษณาแบบสปอตวิทยุทั่วไป

กรณีตัวอย่าง  การใช้สื่อวิทยุ เพื่อการทำตลาดต่างจังหวัด

ร้านยงสงวน  ในจังหวัดอบุลราชธานี  ที่ได้ใช้สถานีวิทยุ FM 88.5 เค้กเรดิโอ ที่เปิดเพลงแบบต่อเนื่อง 8 เพลง  ก่อนการมีโฆษณา  ขณะเดียวกันได้ร่วมกับบรรดาร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว  ร้านเสริมสวยต่างๆ  ให้เปิดเพลงคลื่นดังกล่าว  และเล่นเกม ร่วมสนุกกับคนภายในร้าน  ถือว่าประสบความสำเร็จได้อย่างดี

อันดับ 6 การบอกต่อ (Word of Mouth)

กลุ่มตัวอย่าง 62% ได้รับการบอกต่อ  จาก 3 ทาง คือ แบบปากต่อปาก แบบแชร์หรือแท็กในโซเชียลมีเดีย และดูรีวิวทางเว็บบอร์ด

บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการบอกต่อ ยังคงเป็น “เพื่อน” ขณะที่การค้นหาข้อมูลของคนต่างจังหวัด  ยังคงเป็น Keyword + Pantip เช่นเดียวกับคนกรุงอย่างเราๆ นี่แหละ

ประเด็นสำคัญ เพื่อการทำตลาดต่างจังหวัด  

เนื้อหาที่โดนใจ  จะทำให้เกิดการบอกต่อ ในเรื่องของประสบการณ์การใช้  โปรโมชั่น และการเล่นเกมหรือกิจกรรม

อันดับ 5 สื่อใบปลิว (Brochure)

กลุ่มตัวอย่าง 62% เคยรับใบปลิว และ 78% จะซื้อสินค้าจากใบปลิว  

เหตุผลในการรับใบปลิว

  • เกรงใจ
  • ต้องการดูว่ามีโปรโมชั่นอะไร
  • มีคูปอง ส่วนลดที่โดนใจ

ประเด็นสำคัญ เพื่อการทำตลาดต่างจังหวัด

ใบปลิว ต้องมีขนาด A5

ส่วนใบปลิวที่ไม่อยากรับ คือ

  • มีเนื้อหาแน่น ไม่น่าสนใจ
  • ไม่จำเป็นต้องใช้พรีเซ็นเตอร์
  • ขนาด A4 เป็นขนาดใหญ่เกินไป

กรณีตัวอย่าง ธุรกิจที่ใช้ใบปลิว เพื่อการทำตลาดต่างจังหวัด

ร้านทำเล็บ Nail De Paris จ.เชียงราย ที่ใช้ใบปลิวแจกให้ลูกค้า เฉพาะกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น  และลูกค้าจะต้องนำใบปลิวกลับมาใช้บริการที่ร้าน  เพื่อได้รับโปรโมชั่นต่างๆ 

อันดับ 4  สื่อกลางแจ้ง  (Out of Home)

จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 83% เห็นป้ายโฆษณา ตามสี่แยก และห้างสรรพสินค้า  ซึ่ง 88% จดจำแบรนด์สินค้าได้  

สำหรับสื่อนอกบ้านที่เห็นมากที่สุด

  1. ป้ายภาพนิ่ง
  2. รถแห่
  3. ป้ายแอลอีดี

กรณีตัวอย่าง  ร้านรสหไทยพลาซ่า จังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่ใช้สื่อกลางแจ้งในการทำตลาดต่างจังหวัด  ทั้งรถแห่ ป้ายโฆษณา

อันดับ 3 สื่อโทรทัศน์ (Television)

ผลสำรวจของคนต่างจังหวัดเข้าถึงสื่อทีวี คิดเป็น 89% โดยเฉพาะภาคกลางและภาคอีสานรับสื่อประเภทนี้มากที่สุด ช่วงเวลาที่ดูทีวีมากที่สุดคือ 20.00น. – 24.00 น. โดยใช้เวลาดูประมาณ 1-2 ชั่วโมง อีกทั้งคนต่างจังหวัดยังสามารถจดจำแบรนด์ได้จากสื่อทีวีได้ถึง 88%

จากผลสำรวจช่องที่คนต่างจังหวัดดูมากที่สุด อันดับที่ 1 คือ ช่อง one (31) มากที่สุด ซึ่งรายการที่คนต่างจังหวัดพูดถึงจากช่องวันคือ ละครซิทคอม และรายการประกวร้องเพลง เช่นลละครเป็นต่อ และรายการศึกวันดวลเพลง โดยจะเห็นได้ว่าคนต่างจังหวัดเน้นความบันเทิง ครบทุกรสชาติ อันดับที่ 2 คือช่อง 3 โดยจะเน้นรายการข่าว รายการที่คนต่างจังหวัดพูดถึงมากที่สุดคือ รายการเรื่องเล่าเช้านี้ และข่าว 3 มิติ เนื่องจากเป็นข่าวที่ทันเหตุการณ์ ผู้ประกาศข่าวอ่านข่าวสนุก เนื้อหาครบถ้วน และเจาะลึกในประเด็นข่าวนั้นๆ และ อันดับที่ 3 คือ ช่อง 7 รายการกิ๊กดู๋ สงครามเพลง และรายการปลดหนี้ สาเหตุที่คนต่างจังหวัดชอบดูรายการประกวดร้องเพลง เนื่องจากเป็นพื้นที่ให้คนต่างจังหวัดได้แสดงออกถึงวัฒนธรรม เพราะเป็นเพลงที่ใช้ภาษาท้องถิ่น และรายการปลดหนี้ ที่ให้กำลังใจคนที่มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน

อันดับ 2 สื่อ ณ​ จุดขาย (POS-Point of Sale) 

จากงานวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างเคยเห็นสื่อภายในร้านค้าถึง 90% และตัดสินใจซื้อสินค้าจากสื่อประเภทนี้ถึง 86% โดยป้ายยื่นและป้ายที่อยู่บนชั้นวางสินค้า เป็นป้ายที่กลุ่มตัวอย่างทุกภาคพบเห็นบ่อยที่สุด เนื่องจากอ่านง่ายและสามารถตัดสินใจซื้อได้ทันทีที่หน้าชั้นวางสินค้า

โดยเนื้อหาบนป้ายที่คนต่างจังหวัดชอบมากที่สุด คือ ป้ายบอกคุณสมบัติของสินค้าและผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ชอบป้ายโฆษณาสติ๊กเกอร์ที่ติดบนพื้น สำหรับโปรโมชั่นที่ชอบมากที่สุดคือ 1 แถม 1 แต่โปรโมชั่นที่คนต่างจังหวัดไม่ชอบคือ การซื้อสินค้าครบจำนวนเงินตามที่กำหนดแล้วแลกสินค้าพรีเมี่ยม

อันดับ 1 สื่อออนไลน์​ (Online Media) 

ปัจจุบันสื่อออนไลน์เข้าถึงกลุ่มคนคนต่างจังหวัดเกือบ 100% แล้ว โดยคนส่วนใหญ่นิยมเล่นโซเชียลมีเดีย ในช่วงเวลา 20.00 – 24.00 น.

สื่อออนไลน์ที่คนต่างจังหวัดใช้มากที่สุด

1  Facebook เพื่อติดตามชีวิตเพื่อน อ่านข่าว สาระต่างๆ ในเพจ และช้อปปิ้งออนไลน์ เฉลี่ย 1-2 ครั้งต่อเดือน โดยจะซื้อจาก Facebook และ Instagram ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยจะเลือกซื้อจากความน่าเชื่อถือของร้าน ซึ่งวัดได้จากรีวิวสินค้าและจำนวนคนกดไลค์มากที่สุด 

2  LINE เพื่อติดต่อสื่อสารพูดคุยกับเพื่อน

3 Youtube และ Instagram ซึ่งคนต่างจังหวัดชอบดูรายการย้อนหลังผ่าน Youtube และรายการที่ชื่นชอบคือละครเป็นต่อ และรายการเกมโชว์ I can see your voice และ The Mask Singer อย่างไรก็ตาม จากผลวิจัยพบว่า 88% ของกลุ่มตัวอย่างมักกดข้ามโฆษณา ยกเว้นโฆษณาตลกขบขันเพราะดูเพื่อความบันเทิงแต่จดจำแบรนด์ไม่ค่อยได้ รองลงมาคือโฆษณาเล่าเรื่องราวซึ้งปนเศร้าหรือดราม่า โดยคนภาคใต้จะชอบโฆษณาที่มีเพลงประกอบมากที่สุด และจากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่าคนต่างจังหวัดในภาคกลางและภาคอีสาน ชอบการโพสต์แบบอัลบัมรูปมากที่สุด ทว่าคนภาคเหนือชอบแบบรูปเดียวเพราะสามารถอ่านจบได้ในหน้าเดียว ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรดึงสิ่งสำคัญที่ต้องการจะสื่อสารไว้ช่วงแรก เพื่อตอบสนองกลุ่มคนต่างจังหวัดได้ครบทุกภาค โดยเนื้อหาที่คนต่างจังหวัดให้ความสนใจบนสื่อออนไลน์มากที่สุดคือเนื้อหาที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่จะให้ความสนใจกับเนื้อหาโฆษณาแฝงและดารานักร้องน้อยที่สุด