อพท.เปิด 9 พื้นที่เชื่อมแหล่งเที่ยวพัทยา
โชว์กลุ่มประมงบางละมุงสัมผัสวิถีชุมชน
อพท. เปิดทางเลือกการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนพื้นที่พิเศษเมืองพัทยา พร้อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ 9 แห่ง ผนึกกลุ่มประมงเทศบาลตำบลบางละมุง ดึงนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมสัมผัสใกล้ชิดเรียนรู้วิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้าน ลิ้มรสอาหารกับวัตถุดิบชุมชน เสนอแพ็คเกจท่องเที่ยว พร้อมส่งแอพพลิเคชั่น Smart Pattaya ชูโรง
,
นายธิติ จันทร์แต่งผล รักษาการผู้จัดการพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.3) กล่าวว่า อพท.3 ซึ่งเป็น 1 ใน 9 พื้นที่เป้าหมายของ อพท.3 ในการยกระดับการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง มีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพื่อก่อให้เกิดรายได้กับชุมชนโดยไม่ทำลายวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของชุมชนที่ดีงาม และเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กัน และมีการเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ
สำหรับแผนงานของ อพท.3 ในปี 2559 ได้ดำเนินการคัดเลือกและเป็นหน่วยประสานชุมชนในพื้นที่เป้าหมายกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานในท้องถิ่น ในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่งได้เลือกพื้นที่เป้าหมายทั้งสิ้น 9 แห่ง ที่ประกอบด้วย เมืองพัทยา (ครอบคุลมพื้นที่เกาะล้านและเกาะไผ่) เทศบาลเมืองหนองปรือ เทศบาลตำบลบางละมุง เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย เทศบาลตำบลโป่ง เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ เทศบาลตำบลนาจอมเทียน อบต.หนองปลาไหล และ อบต.เขาไม้แก้ว ในการยกระดับด้านการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่พิเศษและพื้นที่เชื่อมโยง และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” นายธิติกล่าว
ทั้งนี้ อพท.3 ได้ประสานงานกับเครือข่ายแหล่งท่องเที่ยวชุนชนในพื้นที่เทศบาลตำบลบางละมุง และการรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดรายได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มประมงเทศบาลตำบลบางละมุง จ.ชลบุรี มีการจัดกิจกรรมนำเที่ยววิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน ประกอบด้วย กิจกรรมช่วงกลางวันและกิจกรรมช่วงกลางคืน โดยกิจกรรมช่วงกลางวันจะมีการเรียนรู้การเลี้ยงหอยแมลงภู่ การวางอวนปู การเลี้ยงปู และการถักจั่นดักปู และกิจกรรมช่วงกลางคืน ได้แก่ กิจกรรมตกปลาหมึก และเรียนรู้วิธีการจับปลาทู
ในส่วนของ แม่บ้านประมงเทศบาลตำบลบางละมุงกลุ่มที่ 2.จะเป็นอีกส่วนหนึ่งของกิจกรรมกลุ่มประมงเทศบาลตำบลบางละมุง ซึ่งแม่บ้านจะมีรายได้จากการทำอาหารเลี้ยงนักท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเพื่อจัดจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว และการจำหน่ายอาหารแปรรูปของชุมชน และ3.กลุ่มอาชีพสตรีเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย มีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน อาทิ เป็นศูนย์กลางเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชน เช่น การแสดงลำตัด การจัดขบวนขันหมาก และการสอนงานฝีมือแบบโบราณ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และจำหน่ายสินค้าของชุมชน เช่น ขนมทองพับ (ทองม้วนอาหารประจำถิ่นตะเคียนเตี้ย) และน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น พร้อมให้บริการด้านที่พักแบบ “โฮมสเตย์” แก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักด้วยราคาประหยัด
นอกจากนี้ อพท.3 ยังได้ส่งเสริมและจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้แก่กลุ่มประมงเทศบาลตำบลบางละมุง คือการพายเรือคายัค การออกทะเลตกปลาและตกหมึก โดยนักท่องเที่ยวสามารถจ้างเรือประมงของกลุ่มประมงเทศบาลบางละมุงเพื่อออกทะเลไปตกปลาและหมึก รวมทั้งมีกลุ่มแม่บ้านเทศบาลตำบลบางละมุงจะรับจ้างประกอบอาหารจากวัตถุดิบที่นักท่องเที่ยวหามาได้
ขณะที่กิจกรรมการท่องเที่ยวที่กลุ่มประมงเทศบาลตำบลบางละมุงจัดขึ้น จะเป็นการท่องเที่ยวแบบจองล่วงหน้า (Booking) นักท่องเที่ยวสามารถโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ที่
กลุ่มประมงฯ ซึ่งลักษณะการท่องเที่ยวแพ็คเกจแบบครึ่งวัน ท่องเที่ยวเรียนรู้สัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน ไปเที่ยวเกาะนก ดำน้ำดูปะการังน้ำตื้น หรือพายเรือคายัค แล้วกลับมาทานอาหารทะเลสดๆ ส่วนแพ็คเกจกลางคืน มีกิจกรรมออกเรือไปตกหมึก ตกปลา นอกจากนี้ ยังสามารถพักแรมแคมปิ้งบริเวณชายหาดหรือบนเกาะนก โดยราคาเริ่มต้นที่ 300 ต่อ 1 คน
“อพท.3 ได้จัดทำแอพพลิเคชั่น SMART PATTAYA เพื่อให้นักท่องเที่ยวค้นหาแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการบริการต่างๆ ในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 9 แห่ง เพื่อให้เห็นภาพการเชื่อมโยงของแหล่งท่องเที่ยวในเมืองพัทยาได้อย่างชัดเจน และเพื่อรองรับการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองพัทยา ที่ตอนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองพัทยาสูงถึง 9 -10 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มจะเติบโตเพิ่ม” นายธิติ กล่าว
ด้าน นายธวัชชัย ประคองขวัญ ประธานกลุ่มประมงฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มได้มีการทำข้อตกลงในการใช้ทรัพยากรร่วมกันของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดพื้นที่ทะเลหน้าบ้านให้เป็นทะเลชุมชนใช้พื้นที่ทำกิน และจะต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรและเครื่องมือทำประมง ที่จะต้องไม่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งกำหนดการทำประมงได้วันละหนึ่งรอบเท่านั้น มีการกันพื้นที่ส่วนหนึ่ง ในระยะ 500 เมตร จากชายฝั่งเป็นเขตห้ามทำการประมง เพื่อให้เป็นแหล่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และแหล่งปล่อยสัตว์น้ำเพิ่มเพิ่มผลผลิต มีการกำหนดระยะ 4,500 เมตร (4.5 กม.) จากชายฝั่งเป็นเขตประมงพื้นบ้าน และห้ามประมงพาณิชย์เข้ามาจับสัตว์น้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้กลุ่มประมงฯ ยังมีเป้าหมายที่สำคัญที่จะต้องมีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ ผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “ธนาคารปูม้า” (ปูไข่นอกกระดอง) ธนาคารแม่พันธุ์กุ้งแชบ๊วย การเลี้ยงหอยหวาน และการทำปะการังเทียมของหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ เป็นต้น