[espro-slider id=2994]
ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่คนไทยจะได้มีโอกาสสัมผัสกับหนังสือที่ระลึกงานพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล” (รัชกาลที่ 5 – รัชกาลที่ 8) โดยไฮไลท์สำคัญคือหนังสืองานศพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ซึ่งสวรรคตที่ต่างประเทศ แต่ก็มีหนังสือเกิดขึ้นในการอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่ประเทศไทย รวมถึงหนังสือที่ระลึกงานพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ หนังสือที่ระลึกงานศพของข้าราชการ บุคคลทั่วไป และหนังสือที่ระลึกงานศพที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์
มองเผินๆอาจเหมือนหนังสือที่ระลึกงานศพนั้น ไม่ได้มีความสำคัญมากมายนัก แต่ในความจริงแล้วนั้น หนังสือที่มาจากเถ้าถ่านของผู้วายชนม์ประเภทดังกล่าวซึ่งรู้จักกันในชื่อทั้ง “หนังสืออนุสรณ์งานศพ” หรือ “หนังสืองานศพ” หรือ “หนังสือผีสร้าง”ม่สามารถหาพบได้ที่ไหนอีกแล้วในโลก และมีความสำคัญทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของสังคมไทยอย่างยิ่ง ในฐานะของ “บันทึกความทรงจำแห่งประวัติศาสตร์” โดยปัจจุบันเป็นงานเขียนที่แวดวงวิชาการระดับโลก โดยเฉพาะสายประวัติศาสตร์กำลังให้ความสนใจ
หากย้อนกลับไปหาเส้นทางประวัติศาสตร์ของหนังสืองานศพนั้น ย้อนไปได้ถึงขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งมีพระราชประสงค์จะทรงพิมพ์ “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์” ถวายพระราชกุศลในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2412 แต่ไม่บรรลุสมดังพระราชประสงค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2423 หนังสืองานศพที่จัดพิมพ์สำเร็จตามพระราชประสงค์เป็นเล่มแรกคือ “หนังสือรวมบทสวดมนต์” พิมพ์ขึ้นในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม) และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ เป็นหนังสืออนุสรณ์ความรักที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้จัดทำ โดยเชื่อกันว่าเป็นหนังสืองานศพเล่มแรกในสังคมไทยที่จัดทำโดยราชสำนัก
กว่าศตวรรษแล้วที่หนังสืองานศพอยู่คู่สังคมไทย โดยระยะแรกของการจัดพิมพ์หนังสืองานศพนั้น หอพระสมุดวชิรญาณ (หอสมุดแห่งชาติ ในเวลาต่อมา) มีบทบาทสำคัญยิ่งในการคัดเลือกต้นฉบับให้แก่ผู้สนใจจัดพิมพ์หนังสืองานศพ โดยเนื้อหาของหนังสืองานศพในยุคแรก นอกจากจากเป็นเรื่องทางพระพุทธศาสนา แล้วยังมีเรื่องทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรม การท่องเที่ยว และตำราต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับประวัติของผู้วายชนม์ ซึ่งส่วนใหญ่มักพิมพ์แจกในงานพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ และศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ในนิทรรศการ “หนังสือที่รฦกงานศพ: มรดกวัฒนธรรมประจำชาติ” ได้นำหนังสืองานศพสำคัญๆตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถูกนำออกจากกรุมาปัดฝุ่นนำเสนอด้วยรูปแบบที่ผู้เข้าชมงานสามารถมีส่วนร่วมกับนิทรรศการได้มากกว่าเพียงแค่การอ่านเฉยๆเท่านั้น โดยนอกจากจะแสดงหนังสือที่ระลึกงานพระบรมศพแล้วนั้น ยังมีหนังสือของบุคคลสำคัญของไทยอีกมากมาย รวมถึงหนังสืองานศพเล่มแรกในสังคมไทยด้วย อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, เหม เวชกร, กำพล วัชรพล นอกจากนี้ทางหอสมุดแห่งชาติยังได้จัดทำไฟล์ดิจิทัล และ QR Code เพื่อให้สามารถกลับไปเปิดอ่านรายละเอียดต่อที่บ้าน รวมถึงเข้าไปอ่านบางเล่มในเว็บไซต์ของหอสมุดแห่งชาติหลังงานสัปดาห์หนังสือได้ด้วย
เถ้าถ่านของความตายจึงไม่ได้นำมาซึ่งความโศกเศร้าและสูญเสียเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งการสร้างสรรค์แก่คนในสังคมได้อีกด้วย
………………………………..
นิทรรศการ “หนังสือที่รฦกงานศพ: มรดกวัฒนธรรมประจำชาติ” จัดขึ้นเป็นนิทรรศการหลักใน “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15 (45th Nation Book Fair and 15th Bangkok International Book Fair 2017)” ตั้งแต่วันนี้ – วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์