สคบ.ชี้แจงกรณี “แอพพลิเคชั่น เพย์ออล”
แอพพลิเคชั่น เพย์ออล โดนอีก ผิดกฎหมายขายตรงฯ ปี 2545 หลังไม่แจ้งเปลี่ยนแผนการจ่ายผลประโยชน์ ผู้บริหารและกรรมการรวม 6 คนถูกปรับอีกคนละ 3 แสน รวม 1.8 ล้านบาท สคบ.แจงยังไม่มีผู้บริโภคเสียหายมาร้องทุกข์
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ส่งข่าวชี้แจงกรณี “แอพพลิเคชั่น เพย์ ออล” หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ธปท.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีมันนี่ ในการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทาง ธปท. มีความผิดตามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2544 ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2551 (พ.ร.ฎ. อีเพย์เมนต์) และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ประกอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) โดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตมีโทษสูงสุด คือจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยสคบ.ชี้แจงใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. สาระสำคัญ 2. การดำเนินการ 3.ข้อกฎหมาย และ 4. แนวทางการแก้ไขปัญหา
สำหรับสาระสำคัญของกรณีที่เกิดขึ้น มาจากบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อบริษัท นาน่า คอร์เปอร์เรชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 บริษัทได้ยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อเป็น บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด จำหน่ายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 6 รายการ สคบ.ได้ตรวจพบว่า บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงแผนการจ่ายผลตอบแทนในการประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบ อันเป็นความผิดมาตร 38 แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับบริษัท และผู้เกี่ยวข้อง และเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ธปท.ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีกับบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด และบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อ บก.ปอศ.โดยกล่าวหาว่า ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์(อีมันนี่) ในการชำระค่าสินค้าและบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทาง ธปท.
ส่วนการดำเนินการ สคบ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การประกอบธุรกิจขายตรงของบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด ไม่ปฎิบัติตามแผนการจ่ายผลตอบแทนที่ได้ยื่นขอจดไว้ต่อนายทะเบียน อันเป็นความผิดมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท สคบ.จะได้ดำเนินการเปรียบเทียบความผิดบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด และกรรมการผู้กระทำความผิดดังกล่าวรวม 6 ราย รายละ 3 แสนบาท รวมเป็นเงิน 1.8 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 21กุมภาพันธ์2560 สคบ.ได้เรียกรรมการของบริษัททั้ง 5 รายมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ทุกคนยินยอมให้เปรียบเทียบความผิดเต็มตามอัตราโทษ และได้จัดทำบันทึกให้กรรมการบริษัท ลงนามเป็นหลักฐานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่สมาชิกทุกคนไว้ส่วนหนึ่งแล้ว
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบก.ปอศ.บก.ปคบ. หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีกับ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด กับพวกในข้อหาอื่นแต่อย่างใด ในชั้นนี้ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
สำหรับพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 38 ระบุว่า บุคคลใดประสงค์จะประกอบธุรกิจขายตรงหรือประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ให้ยื่นแผนการจ่ายผลตอบแทนพร้อมกับคำขอตามวรรคหนึ่งด้วย ในกรณีจะแก้ไขเปลี่ยแปลงแผนการจ่ายผลตอบแทน ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงต้องแจ้งการเปลี่ยนแแปลงให้นายทะเบียนทราบก่อนจึงจะนำไปปฎิบัติได้
ส่วนมาตร 52 ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงใดไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงแผนการจ่ายผลตอบแทนให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา 38 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท