“ไมเกรน” อาการปวดที่ไม่ควรมองข้าม ป้องกันได้ด้วย “โบทอกซ์”
“ไมเกรน”ไม่ใช่แค่อาการปวดศีรษะทั่วไปที่ควรมองข้ามอีกต่อไป เพราะนอกจากจะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัยแล้ว บางคนมีอาการปวดบ่อยครั้งขึ้น รุนแรงขึ้น และยาวนานขึ้น จนกลายเป็นอาการ “ปวดหัวเรื้อรัง” ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ ขับรถหรือทำงานไม่ได้
นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา อายุรแพทย์โรคหลอดเลือดสมองและภาวะวิกฤตทางสมองศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชั่นแนลให้ความรู้เรื่องความรุนแรงของอาการปวดศีรษะเรื้อรังว่าแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ปวดศีรษะแบบที่เป็นอันตราย และแบบที่ไม่เป็นอันตราย
“การปวดศีรษะแบบที่เป็นอันตราย เช่น มีพยาธิสภาพในสมองเส้นเลือดโป่งพอง ถ้าหากแตกก็มีโอกาสเสียชีวิตสูง ความดันโลหิตสูงมากๆ ก็มีโอกาสเส้นเลือดในสมองแตกพิการหรือเสียชีวิตได้หากมีอาการปวดหัวเรื้อรังดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันทีได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรงแบบทันทีทันใด แบบไม่เคยปวดมาก่อนปวดศีรษะพร้อมมีอาการอ่อนแรง และชาแขนขาครึ่งซีกร่วมด้วยปวดศีรษะร่วมกับมีไข้และคอแข็งปวดศีรษะร่วมกับบุคลิกภาพเปลี่ยนและสับสน”
ส่วนอาการปวดศีรษะเรื้อรังประเภทที่สองคือ การปวดศีรษะแบบที่ไม่ก่ออันตราย นพ.สมบัติ อธิบายว่า “แม้การว่าปวดศีรษะชนิดนี้จะไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่อาจรบกวนชีวิตประจำวัน ที่มีสาเหตุจาก ปัญหาการทำงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ที่ก่อให้เกิดความเครียด ต้องใช้ความคิด นั่งทำงานนานๆ แสงสว่างไม่เพียงพอหรือไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ บางรายที่ปวดไมเกรนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย จึงควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาแนะนำการดูแลตัวเองได้ถูกต้อง ไม่หลงทาง อาการปวดแบบนี้อาจรักษาไม่หายขาด แต่ทำให้อาการทุเลาลงได้ บางคนเข้าใจผิดคิดว่ารักษาง่ายๆ ด้วยการซื้อยามารับประทานเอง หรือบางคนไปหาหมอนวด บางครั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เช่น การติดยา ใช้ยาเกินขนาดทำให้มีพิษต่อตับและไต การนวดรุนแรงอาจเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นเลือดได้เป็นต้น”
การป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนมีมากมายหลายวิธี เช่น การหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น การรับประทานยาป้องกัน การออกกำลังกาย การฉีดยาลดการทำงานของเส้นประสาท และการฉีดยารักษาไมเกรนด้วยโบทอกซ์หนึ่งในเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านความงามที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี
นพ.บัญชา เสียมหาญ อายุรแพทย์ระบบประสาท ศูนย์ระบบประสาทสมอง ไขสันหลัง โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ความรู้ว่า “ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนมีหลายกลุ่มเช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรง ปวดศีรษะบ่อย ปวดศีรษะโดยที่รับประทานยาแก้ปวดไม่หาย ปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป โดยการป้องกันไมเกรนนี้ จะทำให้ความถี่ รวมถึงความรุนแรงของการปวดศีรษะลดน้อยลง เนื่องจากไปออกฤทธิ์ที่เส้นประสาท ซึ่งมีข้อดีคือ ลดอาการรุนแรงลงจากการปวดศีรษะ ส่วนผลข้างเคียงที่ต้องระวังคือ อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เห็นภาพซ้อน ปวดบริเวณที่ฉีดและหนังตาตกได้
โบทอกซ์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยที่ปวดไมเกรนเรื้อรัง ซึ่งไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาป้องกัน หรือล้มเหลวจากวิธีการป้องกันการปวดศีรษะอื่นๆ