สมาคมผู้ค้าปลีกไทย
ชี้มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ดันยอดช้อปทะลุเป้า กระตุ้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก
ส่งให้ภาพรวมค้าปลีกโตเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้
(ข่าวประชาสัมพันธ์)
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยหลังรัฐบาลประกาศใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2558 โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ เท่าที่ได้จ่ายเป็น ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการภายในประเทศ ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มาตราการดังกล่าว ดันภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกเติบโตขึ้นราว 3.05% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.8%
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลมอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนผ่านมาตรการช้อปปิ้งช่วยชาติ ทำให้ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้อสินค้าหรือบริการระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2558 จากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่ได้จ่ายไป มาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีนั้น นับเป็นสัญญาณ ที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีมาตรการลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง สำหรับผู้ใช้จ่ายเป็นค่าบริการแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหรือค่าโรงแรมภายในประเทศมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. – 31 ธ.ค.58 ดังนั้นเมื่อรวมกับมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ ให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายจาการซื้อสินค้าหรือบริการ เท่ากับว่าประชาชนสามารถหักลดหย่อนภาษีได้รวมถึง 30,000 บาท เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีการจับจ่ายโดยเฉพาะในผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป
สำหรับความเห็นของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยต่อการเกิดขึ้นของมาตรการลดหย่อนภาษี รวมทั้งผลกระทบต่อภาพรวมค้าปลีกไทยในปี 2559 มีดังต่อไปนี้
- มาตรการ “ช้อปเพื่อชาติ” ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แก่ผู้บริโภคโดยสามารถนำค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการที่ใช้ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. 2558 และเมื่อรวมกับมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมภายในประเทศที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เกิน 15,000 บาท เท่ากับว่าประชาชนสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้รวมถึง 30,000 บาทเป็นมาตรการที่มา “ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา”
แม้ว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้จะมีราว 3.2ล้านคนจากฐานผู้เสียภาษี 9.6 ล้านคน (ข้อมูลปี 2556) แต่ก็เป็น 3.2 ล้านคนที่ยังมีกำลังซื้อที่แข็งแรง มาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านภาคการค้า (ค้าปลีก ค้าส่ง และ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่อยู่ในระบบภาษี) เป็นช่องทางที่ส่งผลให้เม็ดเงินหมุนเวียนในวงจรเศรษฐกิจถึงกว่า 2-3 เท่า เนื่องจากภาคการค้า มีการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ถึงกว่า 3.5 ล้านคน และมีผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานSupply chain ถึงกว่า 1.5 ล้านครัวเรือน
- ถูกที่ มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ มุ่งไปยังผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง ซึ่งกำลังซื้อยังค่อนข้างแข็งแรง เป็นมาตรการที่ชาญฉลาด และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เม็ดเงินในการจับจ่ายสู่วงจรเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ไปสู่ท้องถิ่นต่างจังหวัด ซึ่งกำลังซื้ออ่อนแอให้เข้มแข็งขึ้น มาตรการ “ช้อปพื่อชาติ” ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศและส่งให้อารมณ์ (mood) ของการจับจ่ายสูงขึ้น เชื่อว่า น่าจะมีการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้น 20% หรือประมาณการ 25,000 ล้านบาท ส่งผลให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 125,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี ผลจากกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 2 มาตรการ ส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ0.3 และทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเติบโตทั้งปีร้อยละ 3.05 ซึ่งสูงกว่าที่คาดหมายไว้ร้อยละ 2.8
ในส่วนของ ยอดขายหมวดสินค้าคงทน ซึ่งหมายถึงยอดขายสินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้างอุปกรณ์กีฬา ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้มากกว่าหมวดอื่นๆ เพราะ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง และ ผู้บริโภคก็รอที่จะซื้อเพื่อเป็นของขวัญให้ตัวเองและครอบครัว ยอดขายหมวดสินค้ากึ่งคงทน ซึ่งหมายถึงยอดขายสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องสำอาง สินค้าลักชัวรี่แบรนด์ ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการรองลงมา และ ยอดขายหมวดสินค้าไม่คงทน ซึ่งหมายถึงยอดขายสินค้าที่จำเป็น ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน คงจะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับหมวดอื่นๆ
- ถูกทาง มาตรการ “ช้อปพื่อชาติ” มุ่งเน้นไปยังผู้ที่อยู่ในระบบภาษีที่ถูกต้องของภาครัฐ ทั้งผู้ประกอบการที่ต้องสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ และ ผู้บริโภคที่เป็นผู้มีรายได้พึงประเมินและเสียภาษีประจำปี จากผลการศึกษาของธนาคารโลก ระบุว่า ประเทศไทยควรเก็บภาษีให้ได้ร้อยละ 21.35 ของจีดีพี แต่ปราฏว่า ภาครัฐเก็บได้เพียง ร้อยละ 16.02 ของจีดีพี เท่านั้น นอกจากนี้ จากการศึกษาโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคล พบว่า มีผู้ประกอบการจดทะเบียนในรูปบริษัท,ห้างหุ้นส่วน ทั้งหมดมีเพียง 327,127 ราย ในขณะที่มีผู้จดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจกว่า 2.7 ล้านราย ซึ่งหมายความว่า มีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนดำเนินธุรกิจเข้าสู่ระบบโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคล เพียงแค่ ร้อยละ 12 ซึ่งมาตรการนี้ เป็นมาตรการที่แยบยลที่จูงใจให้ผู้ประกอบการเห็นประโยชน์ต่อการเข้าระบบโครงสร้างภาษีนิติบุคคลมากขึ้น ในขณะเดียวกัน บุคคลธรรมดาก็เต็มใจที่จะเข้าสู่โครงสร้างภาษีบุคคลมากขึ้นเช่นกัน
- ถูกเวลา มาตรการ ช้อปเพื่อชาติ เป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทห้างร้านได้จับจ่ายซื้อของขวัญกระเช้าต่างๆสวัสดีปีใหม่แก่ลูกค้าผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ช่วง 7 วันสุดท้ายของปี จึงเป็นช่วงการจับจ่ายเพื่อตัวเองและครอบครัว เป็นการใช้จ่ายของบุคคลโดยตรง ซึ่งเป็นช่วงพีคpeak ของการจับจ่ายของผู้บริโภค เมื่อมีมาตรการกระตุ้น จึงทำให้เกิด Maximize the Maximum Effect การจับจ่ายจึงเพิ่มเป็นทวีคูณและเมื่อสิ้นสุดระยะของมาตรการ เพียงข้ามปีก็สามารถนำผลของการจับจ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งทำให้เห็นผลสัมฤทธิ์ได้ทันที ดั่งที่ว่า “ช้อปชาตินี้ คืนภาษีชาตินี้ ไม่ต้องรอนาน”
ดัชนีสมาคมผู้ค้าปลีกไทย 2558
- เก้าเดือนแรกของปี 2558 ทิศทางการผลักดันเศรษฐกิจมุ่งไปยังการปรับโครงสร้างและการส่งออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่เข้าเป้าหมาย สมาคมฯได้เคยคาดการณ์เมื่อต้นไตรมาศที่ 4 ว่า ดัชนีค้าปลีกตลอดทั้งปี น่าจะต่ำกว่าร้อยละ 2.8 ซึ่งลดลงจากปี2557 ที่เติบโตร้อยละ 3.2
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเดือนกันยายน ภาครัฐก็ได้ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กว่า 136,000 ล้านบาท ช่วยผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกำลังซื้อยังอ่อนแอ โดยกระจายรายได้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกทิศถูกทาง แม้เม็ดเงินค่อนข้างน้อย 136,000 ล้าน เมื่อเทียบกับ GDP ทั้งปี ก็ราว 0.7%
- ผลจากมาตรการ “ช้อปเพื่อชาติ” ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและส่งให้อารมณ์ (mood) ของการจับจ่ายสูงขึ้น เชื่อว่า น่าจะมีการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้น 20% หรือประมาณการ 25,000 ล้านบาท ส่งผลให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 125,000 ล้านบาท
- ผลจากกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 2 มาตรการ ทำให้ภาพรวมค้าปลีก (ประมาณการณ์) เติบโตร้อยละ 3.05 ซึ่งสูงกว่าที่คาดหมายไว้ร้อยละ 2.8
- ทิศทางเศรษฐกิจปี 2559 เชื่อว่า น่าจะดีขึ้นกว่า ปี 2558 ซึ่งกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมุ่งเน้นไปที่กลไกภาครัฐเป็นหลัก นับตั้งแต่ การลงทุน Mega Project และสร้างมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนต่อเนื่อง ในส่วนภาคค้าปลีกเอง ก็ยังต้องอาศัยกำลังซื้อละการบริโภคภายในเป็นหลัก ซึ่งก็ยังคงต้องใช้เวลาในการสร้างงานสร้างรายได้ลงสู่รากหญ้า
ข้อเสนอต่อภาครัฐ
- เป็นครั้งแรกในรอบ ๒๐ ปีที่ธุรกิจค้าปลีกไทยทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ครอบคลุมห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยในศูนย์การค้าที่จำหน่ายสินค้าแบรนด์ไทยและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ประสบปัญหาการเติบโตที่ชะลอตัวจนถึงขั้นติดลบ สาเหตุหลักเนื่องจากกำลังซื้อบางส่วนที่อ่อนแอ และการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง เม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
- รัฐต้องเร่งรัดการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ โดยเร็ว เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางลงล่าง เกษตรกร และ ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ยังอ่อนแอ หากโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะโครงการเศรษฐกิจดิจิตอล โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ถูกเลื่อนออกไป เม็ดเงินที่เกิดจากการสร้างงาน และ จ้างงานก็ชะลอลง ซึ่งจะส่งต่อการบริโภคให้ยิ่งอ่อนแอลง
- รัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งไปยังผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง ซึ่งกำลังซื้อยังค่อนข้างแข็งแรง อย่างมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” เพื่อให้เม็ดเงินในการจับจ่ายสู่ภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ เมื่อเกิดการจับจ่าย ก็จะส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ท้องถิ่นต่างจังหวัด ซึ่งกำลังซื้ออ่อนแอให้เข้มแข็งขึ้น อาทิ กระตุ้นการจับจ่าย โดยให้มีการยื่นแบบฟอร์มรายได้พึงประเมินรอบครึ่งปี ( 6 เดือนแรกของปี) เพื่อผู้มีรายได้สามารถรับคืนภาษี(หากมี) ภายในเดือนสิงหาคม ผู้บริโภคจะได้รับเงินคืนไปใช้จ่ายต่อไป
- รัฐต้องเร่งมาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน เช่น มาตรการส่งเสริมการจับจ่ายในช่วง low season โดยให้มีความร่วมมือทั้งจากภาคการท่องเที่ยว, โรงแรม, และค้าปลีก ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้
- เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเม้นท์เดียวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงควรจะต้องพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มแฟชั่นชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ก็เพื่อเพิ่มมูลเหตุจูงใจให้ผู้บริโภคไทย ซึ่งจากสถิติของ Global Blue ปี 2555 และ 2556 มีการขอคืนภาษีในต่างประเทศสูงติดอันดับ 6 ของโลกและเป็นจำนวนเงินมหาศาล หันกลับมาใช้จ่ายในประเทศได้
- พิจารณาการใช้มาตรการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่นักนักท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ ๒ กรณี กรณีที่ ๑ คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ สถานที่ขายสินค้าในทันที กรณีที่ ๒ ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละศูนย์ (0) สำหรับชาวต่างชาติ โดยมีวงเงินขั้นต่ำในการซื้อสินค้าแต่ละครั้งตาม หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
ภาครัฐต้องพิจารณาส่งเสริมผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน และพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกภาคส่วนในประเทศไทย โดยภาครัฐต้องสนับสนุนให้มีจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up counter) ในทุกสนามบินนานาชาติ ที่มีร้านค้าปลอดอากรในเมืองตั้งอยู่ เพื่อรัฐจะได้มีรายได้จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น