อีไอซีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 2.8%

อีไอซีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3.0% โดยมีสาเหตุหลักจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ รวมถึงผลกระทบสะสมของการตั้งกำแพงภาษีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มส่งผลเป็นวงกว้างมากขึ้นในหลายประเทศ โดยผลกระทบในระยะหลังไม่ได้กระจุกตัวเพียงแค่การผลิตภาคอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ และการลงทุน แต่เริ่มกระจายตัวทำให้ภาคบริการชะลอลงอีกด้วย

 

นอกจากนั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession) ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างมาก เช่น เยอรมนี ฮ่องกง และ สิงคโปร์ ซึ่งจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อประคับประคองการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

 

รวมถึงหลายประเทศที่มีความสามารถในการทำนโยบายการคลัง  (fiscal policy space) ก็เริ่มมีการออกมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งจากปัจจัยข้างต้น อีไอซีประเมินว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง และเมื่อรวมกับการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ก็จะทำให้ภาคการส่งออกและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในรูปของเงินบาทได้รับผลกระทบ

 

ดังนั้น อีไอซีจึงมีการปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกเป็นหดตัวที่ -2.5% ขณะที่ภาคท่องเที่ยว แม้จะคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่ 40.1 ล้านคน แต่มีการปรับลดประมาณการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวตามการแข็งค่าของเงินบาท ด้านอุปสงค์ในประเทศ สัญญาณการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะยอดขายที่อยู่อาศัยในภาคอสังหาริมทรัพย์และยอดขายรถยนต์ที่หดตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงสะท้อนจากการจ้างงานที่หดตัวโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม รายได้ภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตรที่ซบเซา และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำลง

 

 

รวมทั้งความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจากสัญญาณคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงและมาตรการกำกับดูแลการให้สินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ประกาศในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อีไอซีประเมินว่าจะมีผลช่วยพยุงการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนในช่วงที่เหลือของปี 2562 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ความล่าช้าของการผ่าน พรบ. งบประมาณปี 2563 จะกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนภาครัฐในส่วนของโครงการใหม่

 

สำหรับปี 2563 อีไอซีคาดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.8% ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวต่อเนื่องและภาระหนี้ครัวเรือนที่จะกดดันกำลังซื้อในประเทศ ความเสี่ยงด้านต่ำจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง ดังนั้นอีไอซีประเมินว่าการฟื้นตัวของการส่งออกไทยจะเป็นไปอย่างช้า ๆ (0.2% ในปี 2563)

 

ในส่วนของภาคอุปสงค์ในประเทศ อีไอซีคาดการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปี 2562 เล็กน้อย ตามอุปสงค์ของการส่งออกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ประกอบกับการก่อสร้างภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางชะลอลงเช่นกันจากหลายปัจจัยกดดัน ได้แก่ ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ด้วยเหตุนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการบริโภคของภาครัฐรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563

 

ด้านนโยบายการเงิน อีไอซีคงมุมมอง กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาสที่ 4/2562  สู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และจะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดปี 2563 แม้ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กนง. จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว 1 ครั้งและล่าสุดในการประชุมเดือนกันยายนได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของทั้งปี 2562และปี 2563  แต่ในระยะถัดไป ความเสี่ยงด้านต่ำจากทั้งในและนอกประเทศที่มีสูงขึ้น จะทำให้ กนง. มีโอกาสปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่คาดว่าจะโตถึง 3.3% ลงได้อีก

 

ประกอบกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายทั้งในปีนี้และปีหน้า น่าจะทำให้ กนง. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในไตรมาสที่ 4/2562 และจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.25% ตลอดทั้งปี 2563 เพื่อประคับประคองกำลังซื้อในประเทศผ่านช่องทางการลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งแม้อาจจะไม่กระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมใหม่ได้มากนักภายใต้ความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่จะมีส่วนลดภาระการชำระหนี้ให้กับครัวเรือนและธุรกิจ SME ที่มีหนี้อยู่แล้วเป็นสำคัญ ในส่วนของปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องยาวนาน

กนง. น่าจะใช้มาตรการ macro และ micro prudential เป็นเครื่องมือหลักในการจัดการความเสี่ยง สำหรับทิศทางของค่าเงินบาท อีไอซีประเมินว่า ค่าเงินบาทจะยังได้รับแรงกดดันด้านแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลสูง แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในภูมิภาคที่อาจทำได้มากกว่าของไทยซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ตลอดจนเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้ามาเป็นช่วง ๆ จากการที่เงินบาทถูกมองว่าเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2563

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมาจากทั้งภายในและภายนอก โดยสงครามการค้ายังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้อีกและอาจทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2020 อาจชะลอลงมากกว่าคาด นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่ต้องจับตาคือความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น Brexit การประท้วงในฮ่องกง และความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอเพิ่มเติม และอาจเกิดความผันผวนในตลาดเงินโลกได้

 

ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศมาจากความเปราะบางทางการเงินที่มีมากขึ้นทั้งในส่วนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME สะท้อนจากระดับหนี้เสีย (NPL) ทั้งในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อธุรกิจ SME ที่โน้มสูงขึ้นจากผลกระทบสะสมของภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้ที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ทำให้ยอดขายของธุรกิจและรายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มกระจุกตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณ รวมถึงประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายของภาครัฐ ก็ยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงภายในสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

 

สรุปประมาณการเศรษฐกิจ

 

บทความโดย ดร.ยรรยง ไทยเจริญ  รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center

ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน

กนงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยธนาคารไทยพาณิชย์นโยบายการเงินภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีไอซีเศรษฐกิจไทย 2562
Comments (0)
Add Comment