บ่อยครั้งที่คนวัยทำงานอาจมีอาการปวดหลังแบบไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ด้วยวิถีการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่ต้องเร่งรีบ และแข่งขันกับเวลาในการทำงานมากขึ้น ต้องนั่งติดหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จนอาจละเลยการดูแลสุขภาพตัวเองอย่างเหมาะสม และมองอาการปวดหลังเป็นเพียงอาการหนึ่งของออฟฟิศซินโดรมเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นอาการปวดหลังยังสามารถส่งสัญญาณได้อีกหลากหลายโรค โดยเฉพาะโรคที่คนส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นเคย หรืออาจไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อมาก่อนเลย เช่น โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing spondylitis)
ศ. นพ. วรวิทย์ เลาห์เรณู อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด เป็นโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าโรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม โดยพบว่าผู้ที่มีการตรวจพบสารพันธุกรรม HLA B27 ก็จะถือว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดมากกว่าคนทั่วไป และจะมีอัตราเสี่ยงมากยิ่งขึ้นหากว่ามีบุคคลในครอบครัวหรือญาติสนิทมีประวัติป่วยในโรคนี้มาก่อน ทั้งนี้โรคดังกล่าวมีแนวโน้มที่มักพบได้บ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิงสูงถึง 10 เท่า ซึ่งผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการปวดหลังบริเวณเอวหรือกระดูกก้นกบ ช่วงอายุที่เริ่มมีอาการจะอยู่ระหว่าง 20-30 ปี หากว่าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่ล่าช้า หรือรับการรักษาไม่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดความพิการหรือทุพลภาพอย่างรุนแรงตามมาได้
สิ่งสำคัญที่ควรเริ่มสังเกตและตรวจสอบตนเอง คือ อาการปวดหลังหรือรู้สึกหลังตึงขัดเรื้อรังที่นานเกิน 3 เดือน ขึ้นไป โดยที่ไม่เคยได้รับอุบัติเหตุใดๆ บริเวณหลังมาก่อน อาการปวดมักจะเริ่มปวดที่บริเวณกระดูกสันหลัง ส่วนเอว โดยจะรู้สึกปวดหรือรู้สึกหลังตึงขัดมากในช่วงเวลาของการนอน ซึ่งในบางรายอาจมีอาการปวดรุนแรงมากจนต้องตื่นกลางดึกและไม่สามารถนอนต่อได้ แต่เมื่อภายหลังการตื่นนอนในช่วงเช้าและเริ่มขยับตัวทำงาน อาการปวดกลับค่อยๆ ทุเลาลงจนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ซึ่งลักษณะอาการปวดเหล่านี้จะตรงกันข้ามกับอาการปวดที่เกิดจากการโรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อม หรือกล้ามเนื้อบริเวณหลังอักเสบจากการทำงาน ที่อาการจะเป็นมาเวลานั่งนานๆ หรือใช้หลังทำงาน แต่อาการจะดีขึ้นหากได้รับการพักผ่อนหรือการนอน
สำหรับอาการปวดหลังเรื้อรังและไม่ได้เกิดจากการได้รับอุบัติเหตุบริเวณหลังนำมาก่อน อาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นผลมากจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ การจัดท่านั่งทำงานอย่างไม่เหมาะสม หรืออาการจากออฟฟิศซินโดรม ซึ่งโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดนี้ หากปล่อยเอาไว้เรื้อรังก็จะส่งผลให้กระดูกสันหลังเชื่อมติดกันถาวร เกิดภาวะหลังค่อมหรือหลังแข็ง หรือร้ายแรงจนถึงขั้นเกิดการติดกันของกระดูกสันหลังส่วนทรวงอก ทำให้หายใจเข้าได้ไม่เต็มที่ การเชื่อมติดกันของกระดูกสันหลังส่วนคอจะทำให้ไม่สามารถก้ม เงย หรือหมุนบิดคอได้ นอกจากอาการทางกระดูกสันหลังแล้ว โรคนี้ยังมีอาการแสดงที่ระบบข้อ คือ มีข้อรยางค์อักเสบ และมีอาการแสดงนอกระบบข้อ เช่น อาการตาแดงจากม่านตาอักเสบ เป็นต้น ดังนั้น การหันมาให้ความสำคัญกับอาการปวดหลังเรื้อรังจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรทำการปรึกษาแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมต่อไป
- การรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยา ได้แก่ การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและวิธีการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ รู้จักใช้ข้อทำงานอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันแรงที่กระทำต่อข้อมากเกินไป การนอนให้ถูกวิธี คือ ไม่นอนหนุนหมอนสูงมากเกินไป และการบริหารข้อและกระดูกสันหลังเพื่อป้องกันข้อและกระดูกสันหลังติดยึด หรือถ้ากระดูกสันหลังจะเชื่อมติดก็ให้ติดอยู่ในท่าที่เหมาะสม เป็นต้น
- การรักษาทางยา ได้แก่ กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs: NSAIDs) มีคุณสมบัติในการระงับและบรรเทาอาการปวด ได้ดี และยาต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (Disease-Modifying Anti-Rheumatic Drugs: DMARDs) ซึ่งนิยมใช้ในรายที่มีข้อรยางค์อักเสบร่วมด้วย ปัจจุบันได้มีการพัฒนายาที่เรียกว่า กลุ่มสารชีววัตถุ (Biologic agents) ที่จะออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งการทำงานของสารก่อการอักเสบของโรคเหล่านี้โดยตรง ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบได้ดีมาก ทำให้สามารถควบคุมข้อและกระดูกสันหลังอักเสบได้ดี ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อและกระดูกสันหลังทำงานได้ดีขึ้น ทั้งยังทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
- การรักษาด้วยการผ่าตัด จะเป็นวิธีการสุดท้ายที่แพทย์จะพิจารณาใช้ในการรักษาโรคนี้ โดยแพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดในผู้ป่วยรายที่มีข้อที่ได้ถูกทำลายลงไปอย่างมากแล้ว หรือเกิดภาวะข้อติดผิดรูปจนมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างชัดเจน อาทิ กระดูกคอติดในท่าก้มทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมองไปด้านหน้าได้ กระดูกสันหลังส่วนเอวติดจนทำให้ตัวอยู่ในท่าก้มตลอดเวลา หรือในรายที่มีข้อรยางค์ติดจนไม่สามารถใช้ข้อทำงานได้อย่างเต็มที่ เช่น ข้อสะโพก หรือข้อเข่า จึงจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดแก้ไขหรือเปลี่ยนข้อเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานและเคลื่อนไหวข้อต่อต่างๆ ได้ต่อไป