จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคตอีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้า?
นั่นเป็นเพราะว่าจากเวทีเสวนา “ความรู้และทักษะความจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่” จัดโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ United Nations Population Fund (UNFPA) มีการคาดการณ์ว่า ประชากรสังคมไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและจำนวนคนในวัยแรงงานน้อยลง ซึ่งกลุ่มคนในวัยแรงงานช่วงอายุ 21- 59 ปี หนึ่งคนน่าจะต้องแบกภาระสังคมและดูแลคนรอบข้างในอัตรา 1:5 คน
ส่งให้ต้องพัฒนาคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่ระบบแรงงาน และผู้ที่เป็นกลุ่มแรงงานใหม่ (New Jobbers) ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและชีวิตการทำงานให้มีความสมดุลและมีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถดูแลตนเอง คนรอบข้าง และสร้างผลผลิตต่อสังคมได้
การจัดเสวนาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีระหว่างคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ ร่วมแบ่งปันความรู้และทักษะพื้นฐานรวมถึงสิทธิที่จำเป็น เพื่อรวบรวม ชุดความรู้และทักษะไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ การเสริมพลังคนรุ่นใหม่และเยาวชนในวัยที่เริ่มเข้าสู่วัยแรงงาน และการหาแนวร่วมการพัฒนาคนรุ่นใหม่กับภาคเอกชนต่อไป
โดยนางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย มีมุมมองเกี่ยวกับ “ความรู้และทักษะความจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่” มีความสำคัญและจำเป็นที่แรงงานรุ่นใหม่ต้องเพิ่มเติมทักษะ
หากคุณเป็นพนักงานประจำที่มีรายได้เป็นเงินเดือนตามเกณท์ และถ้าคุณเป็นแรงงานที่มีทักษะความรู้และความสามารถในการเชี่ยวชาญสายงานนั้นหรืออื่นๆ จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกช่องทางหนึ่ง ดังนั้นแรงงานรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้ทำงานในรูปแบบงานประจำเท่านั้น แต่ยังต่อยอดและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากทักษะที่มี ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของเทรนด์การทำงานที่มาแรงในขณะนี้ เรียกว่า Gig Economy หรือระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่จากงานระยะสั้นประเภทต่างๆ เป็นเทรนด์และรูปแบบการทำงานที่แรงงานคนรุ่นใหม่เลือกทำ รวมทั้ง ยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และวิถีการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่
พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอแนวคิดและหลักการเตรียมความพร้อมในการทำงานดังนี้ ทักษะแรก ทัศนคติที่ดี เปิดกว้าง เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว หากพร้อมที่จะเรียนรู้และรับสิ่งใหม่ที่นอกเหนือจากความรู้ที่เรียนมา จึงทำให้สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากการทำงานอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง ยังสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
ทักษะที่สอง ทักษะด้านการสื่อสารให้มีความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทักษะที่สามการมีมนุษย์สัมพันธ์ดีและการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นอีกหนึ่งทักษะที่แรงงานรุ่นใหม่ต้องมี ตัวอย่างเช่น การรับวิศวกรในยุคนี้ไม่ใช่แค่ทักษะความรู้ที่เก่งด้านวิชาชีพวิศวะเท่านั้น แต่การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากการทำงานในตำแหน่งวิศวกรต้องทำงานร่วมกับผู้คนหลากหลายทั้งช่าง พนักงานในส่วนการผลิต และผู้บริหารอาจเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งทักษะทางอารมณ์และสังคม (Soft Skill) นับเป็นเรื่องที่เรียนรู้ยากแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักที่แรงงานรุ่นใหม่จะต้องมีการพัฒนาทักษะความรู้ (Upskill) ตลอดเวลา เพราะโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วโดยเฉพาะในการทำงาน ดังนั้น แรงงานรุ่นใหม่จะต้องมีทักษะ 360 องศาควบคู่ไปพร้อมกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างมืออาชีพต่อไป