อาการปวดหัว หรือ “ปวดศีรษะ” เป็นอีกโรคยอดฮิตของหลายคน ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วสร้างความรำคาญได้ไม่นอ้ย และถ้ารุนแรงก็สร้างความทรมานให้กับร่างกายได้ ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าวบ่อยครั้ง อย่านิ่งนอนใจ หรือปล่อยไว้จนเกิดอาการเรื้อรัง เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายของเราได้
วันนี้เรามีข้อมูลที่น่าสนใจจาก นพ.ชยานุชิต ชยางศุ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบสมอง ศูนย์โรคระบบสมอง โรงพยาบาลนวเวช ย่านเกษตรนวมินทร์ รัชดา-รามอินทรา ที่มีคำแนะนำเกี่ยวกับ วิธีการสังเกตอาการปวดหัว และแนวทางการรักษามาฝาก
เช็กด่วน 6 อาการปวดหัว ที่ควรรีบมาพบแพทย์
1.อาการปวดหัวที่เป็นแบบเฉียบพลัน รุนแรง โดยเฉพาะความรู้สึกว่าอาการปวดเป็นการปวดที่สุดในชีวิตที่เคยเป็นมา
2.มีอาการร่วมโดยเฉพาะ มีไข้ หรือมีคอแข็ง (ก้มหัวแล้วรู้สึกตึงหรือปวดบริเวณคอ)
3.มีอาการชัก ซึม สับสน หรือหมดสติร่วมด้วย
4.ปวดหัวแบบเฉียบพลันรุนแรงทันทีหลังการออกกำลังกาย หรือมีการกระทบกระแทกบริเวณหัว
5.ไม่เคยปวดหัวเป็นประจำมาก่อน แล้วมีอาการเฉียบพลันขึ้นมาโดยเฉพาะในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี, หรือปวดหัวรุนแรงในขณะกำลังตั้งครรภ์
6.มีอาการแขนขาอ่อนแรง ชา ตามองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็น (อาการเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็นนี้อาจเกิดขึ้นได้ในคนที่เป็นไมเกรน แต่มักจะหายไปในเวลาไม่นาน)
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคก่อน มีความกังวล หรือไม่แน่ใจว่าอาการปวดหัวอาจเป็นจากโรคร้ายแรงอย่างอื่น โดยเฉพาะถ้าปวดหัวบ่อยๆ หรือรุนแรง
วิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อมีอาการปวดหัว
-ทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวดหัว อย่ารอจนอาการเป็นรุนแรง ยาที่ทานเป็นตัวแรกแนะนำพาราเซตามอล (Paracetamol) หากไม่เคยแพ้ Paracetamol หรือทานยาตามที่แพทย์สั่งถ้าเคยมาพบแพทย์แล้ว
-นอนพัก หรือถ้าหลับได้จะทำให้อาการดีขึ้นเร็ว พยายามหาที่มีแสงน้อย เงียบ เย็น จะทำให้อาการดีขึ้นได้
วิธีปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหัว
แนะนำให้หาปฏิทินเพื่อจดอาการปวดหัว (Headache calendar) จดรายละเอียดเกี่ยวกับการปวดหัว ทั้งวันที่เป็น เวลา สิ่งที่ทำก่อนที่จะมีอาการ อาหารที่ทานก่อนที่จะมีอาการ ยาที่ทานหรือสิ่งที่ทำให้อาการดีขึ้น สิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์หรือแม้กระทั่งเตือนความจำของตัวเราเองว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุกระตุ้นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย
-Stress (ภาวะเครียด) ทุกอย่างที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะ stress ไม่ใช่เฉพาะความเครียดอย่างเดียว รถติด อากาศร้อน แสงจ้า กลิ่นบางชนิดเช่นควันบุหรี่ ควันรถยนต์ กลิ่นน้ำหอม ช่วงมีประจำเดือน
-ไม่ได้ทานอาหาร โดยเฉพาะมื้อเช้า หรือทานเลยเวลามากเกินไป
-ได้รับคาเฟอีน (Caffeine) มากหรือน้อยเกินไป มากเกินไปเช่นกาแฟวันละเกิน 3 แก้วขึ้นไป หรือน้อยเกินไปเช่นคนที่ทานกาแฟเป็นประจำทุกวันแล้วไม่ได้ทาน
-นอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไป นอนไม่หลับ นอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ
-ดื่ม Alcohol
-อาหารบางชนิดเช่นชา กาแฟ ชีส ช็อคโกแล็ต ผงชูรส อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นการปวดหัว
อาการปวดหัวรักษาอย่างไร?
ปรกติอาการปวดหัวรักษาได้ด้วยยา ปัจจุบันมียาหลายชนิด ตั้งแต่ยาเบื้องต้นที่แนะนำทั่วไปอย่าง Paracetamol จนถึงยาฉีดเพื่อรักษาอาการปวดหัวสิ่งสำคัญคือการตรวจวินิจฉัยแยกโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้ปวดหัวออกไป ซึ่งทำได้ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือบางกรณีอาจจะต้องทำการตรวจ CT scan หรือ MRI ก่อน, การรักษาโดยการซื้อยารับประทานเองโดยเฉพาะถ้ามีอาการปวดเป็นประจำ มีผลทำให้ติดยาได้ อาจทำให้การปวดหัวรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคอื่นๆแล้วทำให้มีอาการปวดหัวอาจมีความเสี่ยงทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที