คู่มือชีวิตและการทำงาน

เคมีบำบัดคืออะไร? ทำไมจึงรักษาโรคมะเร็งได้?

เคมีบำบัดคืออะไร ทำไมจึงรักษาโรคมะเร็งได้ คงเป็นเรื่องที่หลายคนยังคงสงสัยอยู่ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรามักได้ยินว่า การรักษาโรคมะเร็งนั้น วิธีการหลักๆ ที่ถูกหยิบมาใช้กันเสมอ คือ การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือเรียกสั้นๆ ว่า “คีโม” ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ คือ คำว่า Chemotherapy นั่นเอง เรามีคำตอบมาให้ได้ไขข้อสงสัย จากบทความของบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด

ปัจจุบันโรคมะเร็ง พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนในวัยเด็กพบน้อยกว่าในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อย 10 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็งตับ ปอด ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง เม็ดเลือดขาว กระเพาะปัสสาวะ ช่องปาก กระเพาะอาหาร และหลอดอาหาร ซึ่งมะเร็งคือเซลล์ที่มีการแบ่งตัวและเจริญอย่างควบคุมไม่ได้ และมีพฤติกรรมรุกรานแบบร้าย ได้แก่ การรุกรานเนื้อเยื่อข้างเคียง และการแพร่กระจาย เป็นต้น สาเหตุของการมีพฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม แล้วเคมีบำบัดคืออะไร? ทำไมจึงรักษาโรคมะเร็งได้? ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลเป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้

เคมีบำบัดคืออะไร? ทำไมจึงรักษาโรคมะเร็งได้? 

เป็นเพราะเคมีบำบัด มีคุณสมบัติฆ่าเซลล์มะเร็งหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีทั้งรูปแบบยารับประทาน และยาฉีดเข้าสู่กระแสเลือด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งจะเป็นผู้เลือกยาตามโรค และระยะของโรค เพื่อให้ได้ผลดีต่อผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกัน โดยวัตถุประสงค์การให้เคมีบำบัดคือ 1.รักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคมะเร็งและไม่กลับมาเป็นซ้ำ 2. ควบคุมโรคให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงหรือไม่โตขึ้น และไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น 3. บรรเทาอาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 4. ช่วยให้การรักษาควบคู่กับวิธีอื่นๆ ได้ผลดียิ่งขึ้น เช่น รังสีรักษา หรือการผ่าตัด

เคมีบำบัด, รักษามะเร็ง, โรคมะเร็ง

ทั้งนี้ ก็ยังมีคำถามมากมายว่า เคมีบำบัด มีผลข้างเคียงหรือไม่?

เคมีบำบัดแทบทุกชนิดจะก่อให้เกิดภาวะข้างเคียงต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สาเหตุเกิดจากเคมีบำบัดจะไปทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติของร่างกาย ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเช่น คลื่นไส้อาเจียน ความอยากอาหารลดลง ผมร่วง ชาปลายมือปลายเท้า ภาวะเม็ดเลือดต่ำ เป็นต้น อาจมีอาการขณะกำลังได้รับยาเคมีบำบัดหรือภายหลังจากได้รับยา ซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดของยาและภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน

ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรแจ้งผลข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นให้กับแพทย์ผู้รักษาทราบทุกครั้ง เพื่อปรับขนาดของยาให้เหมาะสม ซึ่งการประเมินก่อนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนั้น ผู้ป่วยจะต้องผ่านการประเมินโรค สภาพร่างกาย และได้รับการตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วยและญาติ เพื่อพร้อมที่จะเข้ารับการรักษา โดยแพทย์และพยาบาลจะประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายผู้ป่วย

โดยการตรวจเลือดเพื่อดูความเพียงพอของเม็ดเลือดและผลเลือดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคและยาสูตรที่ผู้ป่วยจะได้รับ อีกทั้งต้องชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเพื่อการคำนวณปริมาณยา ทำการตรวจร่างกายและค้นหาภาวะข้างเคียง เพื่อการป้องกันและจัดการ โดยที่แพทย์จะต้องอธิบายถึงแผนการรักษาและให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะข้างเคียงของการรักษาให้แก่ผู้ป่วย

การให้บริการเคมีบำบัดโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่มีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญในการให้เคมีบำบัดเป็นผู้ดูแลตามมาตรฐานการพยาบาล ผสมยาในห้องปลอดเชื้อโดยเภสัชกรที่มีความชำนาญ ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง รวมถึงการรักษาโรคมะเร็งแบบออกฤทธิ์แบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) โดยให้ยาหรือสารไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง

เคมีบำบัด, รักษามะเร็ง, โรคมะเร็ง

ทั้งนี้ การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดนั้น ถึงแม้ว่าจะมีผลข้างเคียง แต่ถ้าแลกมาด้วยโอกาสในการหายจากโรคมะเร็งได้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่า โดยผู้ป่วยจะต้องมีกำลังใจที่ดีและมีทัศนคติที่ดีในการรักษา เพื่อต่อสู้กับโรคร้าย พร้อมๆ กับกำลังใจที่ดีจากครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยอย่างดีเยี่ยมในการต่อสู้กับโรคมะเร็งให้ประสบความสำเร็จ

บทความจาก บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด